
เปิดข้อมูลโอมิครอน ” BA.4 – BA.5″ แนวโน้มมากขึ้น แบ่งเป็นผู้เดินทางตปท. 78.3% ในประเทศ 50.3% คาดการณ์อีกไม่นานครองตลาดในไทย เมื่อแยกสัดส่วนติดเชื้อภาพรวมจำนวน 173 ราย เป็น BA.4 – BA.5 อยู่ที่ 35.8% ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ 44 ราย ติด BA.4 – BA.5 ราว 29.5% ไม่ถือว่ามากกว่ากลุ่มอื่น ส่วนกลุ่มอาการรุนแรง-เสียชีวิตมี 11 ราย ติดเชื้อ 36.4% ตัวเลขยังน้อย! ทางสถิติสรุปไม่ได้ว่า รุนแรงจากสายพันธุ์นี้ ขอความร่วมมือรพ.ส่งตัวอย่างป่วยรุนแรงเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลสถิติที่แม่นยำ
เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 4 ก.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าว การเฝ้าระวังโควิด19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ว่า จากการติดตามเฝ้าระวังระบาดของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 โดยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า เป็นโอมิครอน 100% ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมามีการตรวจด้วย SNP ทั้งหมด 948 ราย มีพบว่าเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 447 ราย ส่วน BA.4 และ BA.5 เราไม่ได้แยกเพราะเป็นการตรวจชั้นต้น มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งเดียวกัน ซึ่งตรวจรวมกันพบว่ามี 489 ราย ทั้งนี้ เมื่อแบ่งกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศจำนวน 46 ตัวอย่าง พบว่า เป็นBA.4 และ BA.5 ประมาณ 78.3% ส่วนกลุ่มในประเทศมี 900 ตัวอย่าง ตรวจพบ BA.4 และ BA.5 50.3%
“หากพิจารณาตามรายสัปดาห์เริ่มต้นจากประมาณ 6% กว่าๆ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว มาเป็น 44.3% และมาเป็น 51.7% ภาพรวมของทุกกลุ่ม ซึ่งมีแนวโน้มขึ้น หากเป็นแบบนี้ก็คาดการณ์ได้ว่า อีกไม่นานสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 จะครองตลาดส่วนใหญ่ของการติดเชื้อในประเทศไทย ทั้งนี้พบเกือบครบทุกเขตสุขภาพ เว้นเขตสุขภาพ 3 , 8 และ 10 แต่คิดว่าก็มีกลุ่มตัวอย่างเช่นกัน เพียงแต่เป็นการสุ่มตรวจ อย่างไรก็ตาม มากที่สุดยังเป็นกรุงเทพมหานคร ซึ่งหากกรุงเทพฯ เป็นเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ภาพรวมประเทศก็เป็นเช่นนั้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การตรวจชั้นต้นได้ผล 1 วันแล้ว ยังนำจำนวนตัวอย่างบางส่วนมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรประมาณ 1 สัปดาห์ บางส่วนอาจซ้ำกัน ดังนั้น BA.4 และ BA.5 ในไทยมีประมาณ 1,000 ราย แต่ตัวเลขนี้ไม่ได้มีความหมาย เพราะต้องดูสัดส่วนคนติดเชื้อทั้งหมด หากสัดส่วนเยอะกว่าอีกสายพันธุ์หนึ่งก็แสดงว่าแพร่เร็วกว่า
เมื่อวิเคราะห์ตามกลุ่มต่างๆช่วงวันที่ 25 มิ.ย.- 1 ก.ค. 65 เป็นข้อมูลที่น่าสนใจแต่ต้องติดตามต่อ โดยพบว่า 173 รายในภาพรวมมี BA.4 และ BA.5 35.8% ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ มี 44 รายพบ BA.4 และ BA.5 ประมาณ 29.5% ซึ่งแสดงว่าสายพันธุ์กลุ่มนี้ไม่ได้เกิดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มากกว่ากลุ่มอื่น ส่วมกลุ่มที่มีค่า ct น้อยๆ คือ เชื้อเยอะๆ มี19 ราย พบเป็นสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 36.8% ส่วนกลุ่มที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต ได้ตัวอย่างมาเพียง 11 ราย พบสัดส่วนสายพันธุ์นี้ 36.4% ไม่ได้แตกต่างกันมาก
“เบื้องต้นข้อมูล ณ วันนี้ ยังไม่พบความรุนแรงจากสายพันธุ์BA.4 และ BA.5 เมื่อเทียบกับBA.1 และ BA.2 เดิมอย่างเห็นได้ชัด เพียงแต่ตัวเลข 11 รายยังต่ำเกินไป จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลที่มีคนไข้ใส่ท่อช่วยหายใจ ปอดอักเสบส่งตัวอย่างมาเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลสถิติที่แม่นยำขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว

