ทีมนักวิทยาศาสตร์อินเดียตรวจพบเชื้อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ที่เกิด “การกลายพันธุ์คู่” (double mutant)

ทีมนักวิทยาศาสตร์อินเดียตรวจพบเชื้อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ที่เกิด “การกลายพันธุ์คู่” (double mutant)

ทีมนักวิทยาศาสตร์อินเดียตรวจพบเชื้อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ที่เกิด “การกลายพันธุ์คู่” (double mutant) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลง 2 ตำแหน่งในรหัสพันธุกรรมของไวรัสตัวเดียว ขณะนี้กำลังศึกษาว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้จะติดต่อได้ง่ายขึ้น หรือทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงหรือไม่

เจ้าหน้าที่ตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่นี้จากการศึกษาตัวอย่าง 10,787 รายที่เก็บได้จากคนอินเดียในพื้นที่ 18 รัฐ โดยพบว่าในจำนวน 771 ตัวอย่างนั้น เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในอังกฤษ 736 ราย ตามด้วยไวรัสกลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ 34 ราย และไวรัสกลายพันธุ์จากบราซิล 1 ราย

อย่างไรก็ตาม ทางการอินเดียระบุว่า เชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่นี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอัตราการติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นของอินเดียในขณะนี้ โดยเมื่อวันที่ 24 มี.ค. อินเดียรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 47,262 คน และผู้เสียชีวิต 275 คน ซึ่งถือเป็นยอดเพิ่มรายวันสูงที่สุดในปีนี้

นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบอะไร

การตรวจครั้งนี้ดำเนินการโดยกลุ่มศึกษาจีโนมเชื้อโรคโควิด-19 แห่งอินเดีย (Indian SARS-CoV-2 Consortium on Genomics หรือ INSACOG) ซึ่งเป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการระดับชาติ 10 แห่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอินเดีย ที่จัดเรียงลำดับจีโนม (Genome) หรือทำแผนที่รหัสพันธุกรรมทั้งหมดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 (Sars-CoV-2)

โดยผลการตรวจพบว่า เชื้อโรคโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์คู่นั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่ง E484Q และ L452R

การกลายพันธุ์ในเชื้อไวรัสถือเป็นเรื่องปกติ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีนัยสำคัญ และไม่ได้เปลี่ยนแปลงความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อ หรือทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง แต่การกลายพันธุ์บางอย่าง เช่นในสายพันธุ์ที่พบในสหราชอาณาจักร หรือในแอฟริกาใต้ สามารถทำให้ไวรัสติดต่อได้ง่ายขึ้น และในบางกรณีก็มีอันตรายถึงชีวิตมากขึ้น

ดร.ชาฮิด จามีล นักไวรัสวิทยา อธิบายว่า การกลายพันธุ์ 2 แบบในตำแหน่งสำคัญที่โปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งเชื้อไวรัสใช้ในการเข้าสู่เซลล์ร่างกายคนเรานั้น อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ว่านี้ และทำให้เชื้อสามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันได้

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขอินเดียระบุในแถลงการณ์ ว่า “การกลายพันธุ์ในลักษณะนี้ช่วยให้ไวรัสสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและเพิ่มประสิทธิภาพในการติดเชื้อ”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียระบุว่า การวิเคราะห์ตัวอย่างที่เก็บรวบรวมจากรัฐมหาราษฏระ ทางตะวันตกของอินเดีย พบว่าตัวอย่างเชื้อโรคโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์ 2 ตำแหน่งในเชื้อชนิดเดียวนั้น เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการตรวจเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งยังไม่มากพอที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์โดยตรง หรือช่วยอธิบายถึงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในบางรัฐได้

เชื้อกลายพันธุ์ใหม่น่ากังวลแค่ไหน

สมิตา มุนดาซัด ผู้สื่อข่าวสุขภาพของบีบีซี ระบุว่า “การเปลี่ยนแปลง 2 ตำแหน่ง”อาจฟังดูน่ากลัว เพราะหมายความว่านักวิทยาศาสตร์อินเดียตรวจพบการกลายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญ 2 ตำแหน่งในเชื้อไวรัสชนิดเดียว

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นกับกรณีนี้ก็คือ การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ไวรัสเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปอย่างไร มันจะทำให้คนติดเชื้อได้ง่ายขึ้นหรือไม่ หรือจะทำให้ล้มป่วยรุนแรงหรือเปล่า และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ วัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะยังใช้ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้หรือไม่ นี่จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องเร่งค้นหาคำตอบเหล่านี้

A man wearing face mask sleeps in front of the wall showing a graffiti honoring frontline workers in the fight against the spread of coronavirus COVID-19, in Mumbai, India, 22 March 2021.

ที่มาของภาพ,EPA

แม้ทางการอินเดียจะบอกว่าปัจจุบันผลการตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็จำเป็นต้องรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยมาตรการทางสาธารณสุขแบบเดิมนั่นคือ การเพิ่มการตรวจคัดกรองโรค การค้นหาติดตามตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ การกักตัว ตลอดจนการสวมหน้ากากและเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อช่วยลดภาระของระบบสาธารณสุขในประเทศซึ่งรับภาระหนักหน่วงจากการต่อสู้กับโรคระบาดนี้มานานกว่า 1 ปี

ในแง่ของวัคซีนนั้น ในปัจจุบันพบว่าวัคซีนที่มีอยู่ยังมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดต่าง ๆ ที่พบในขณะนี้ได้ แม้บางครั้งอาจจะมีประสิทธิภาพน้อยลงเมื่อเทียบกับเชื้อโควิดชนิดดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่าหากจำเป็น ก็อาจดัดแปลงวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้สามารถจัดการกับเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ๆ ได้

อินเดียมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้วกว่า 160,000 คน และมียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 11.7 ล้านคน ซึ่งยอดที่พุ่งสูงขึ้นขณะนี้ทำให้ทางการหลายรัฐเริ่มกลับมาใช้มาตรการควบคุมโรคต่าง ๆ อีกครั้ง รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิว และการล็อกดาวน์เป็นระยะ ๆ

ที่มา : https://www.bbc.com/thai/international-56515540

Hi, How Can We Help You?

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save